คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร เชิญชวนนักศึกษา ศิษย์เก่า คณาจารย์ บุคลากร และประชาชนในพื้นที่โดยรอบร่วมงานประเพณีสืบสานวัฒนธรรมลอยกระทง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี ๒๕๖๗
หวนถิ่น กลิ่นจัน สืบสรรค์ วันลอยกระทง “ทับแก้ว”
ในวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ ลานสระแก้ว (ตรงข้ามอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล) มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานในสังคมไทย มีรากฐานมาจากความเชื่อและศรัทธาของคนไทยต่อพระแม่คงคา ผู้เป็นเทพีแห่งสายน้ำที่ให้ชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ การลอยกระทงจึงเป็นวิธีหนึ่งที่คนไทยได้แสดงออกถึงความเคารพและขอบคุณต่อธรรมชาติ โดยการนำกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติไปลอยในแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำอื่นๆ ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งตรงกับช่วงน้ำเต็มตลิ่ง อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และความสดชื่นในชีวิต
ด้วยเหตุนี้ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของประเพณีลอยกระทงในฐานะส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมไทย อันควรค่าแก่การสืบสานและอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โครงการวันลอยกระทงของคณะศึกษาศาสตร์จึงเกิดขึ้นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีและความงามของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นไปทางการใช้กระทงที่อนุรักษ์ต่อสิ่งแวดล้อม และใช้แนวทางที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG) ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาสังคมให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ จึงมุ่งเน้นการอนุรักษ์ประเพณีไทยควบคู่กับการสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมาย SDG โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 14 การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
โครงการนี้ยังมุ่งส่งเสริมให้คณาจารย์ นักศึกษา และชุมชนใกล้เคียง ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่แสดงออกถึงการขอบคุณและให้ความสำคัญกับทรัพยากรน้ำ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ลดการสร้างขยะพลาสติกจากกระทง และส่งเสริมจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังเป็นเวทีให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีและศิลปะวัฒนธรรมไทยในเชิงสร้างสรรค์ และปลูกฝังความรักในมรดกวัฒนธรรมให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ กิจกรรมการประกวดความสามารถพิเศษและการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจากนักศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบที่สร้างสรรค์ โดยผู้เข้าร่วมจะได้เห็นความงดงามของการแสดงพื้นบ้าน เช่น รำไทย การขับร้องเพลงพื้นบ้าน และการแสดงศิลปะดนตรี ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ไทย รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ระหว่างรุ่นนักศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนให้นักศึกษามีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ในด้านศิลปะวัฒนธรรม