เขียวกล้า กล้วยไม้งาม | GREEN EDUC SU

ต้นยางนา ไม้มากประโยชน์

ต้นยางนาถูกปลูกโดยรอบคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยนักศึกษาศึกษาศาสตร์รุ่นที่ 55 ปีการศึกษา 2567

แนวคิดการปลูกต้นไม้โดยรอบคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ริเริ่มจาก ศาสตราจารย์ ดร.คณิต เขียววิชัย คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ที่อยากให้เกิดกิจกรรมปลูกต้นไม้ร่วมกันภายในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ช่วยกันดูแล และเป็นที่ระลึกเวลากลับมาเยี่ยมเยียนคณะฯ หลังจากจบการศึกษาแล้ว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้น ยางนา

ต้นยางนา (Yang) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Dipterocarpus alatus Roxb. เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้นขนาดใหญ่ สามารถสูงได้ถึง 50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นสีเทาอ่อน เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ดอกมีสีชมพู ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ผลมีปีกขนาดใหญ่ที่พัฒนาจากกลีบเลี้ยง 2 อัน เป็นสีแดงอมชมพู เปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียว พอผลแห้งจะเป็นสีตาลและร่วงหล่น

สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพดินแทบทุกชนิด ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน และความชื้นปานกลาง มักขึ้นในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศจะพบได้ที่บังกลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามใต้

ประโยชน์ของต้นยางนา

1 I น้ำมันจากต้นยางนาใช้สกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้

โดยน้ำมันที่ได้จะเหมาะใช้กับเครื่องจักรทางการเกษตรขนาดเล็ก 1 สูบ ไม่เกิน 11 แรงม้า เช่น รถไถแบบเดินตาม เครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ สามารถลดต้นทุนค่าน้ำมันให้กับเกษตรกรได้

2 I ยางนาสามารถปลูกเห็ดระโงกได้

เห็ดระโงก เป็นหนึ่งในเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซา ที่มีราคาจำหน่ายสูงถึง 200-300 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเป็นเห็ดที่เจริญเติบโตอยู่ภายในป่าคู่กับพืชในวงศ์ยางนา และหากินได้ยาก รวมทั้งหากินได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น โดยเห็ดชนิดนี้จะเกาะอาศัยอยู่กับรากต้นไม้ และจะช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตแข็งแรงเป็นภาวะพึ่งพาอาศัยกันตามสภาพธรรมชาติ

3 I ยางนา พยากรณ์วันที่ฝนจะตกได้

ซึ่งไม่ใช่แค่ต้นยางนาเท่านั้นที่พยากรณ์วันฝนตกได้ แต่รวมถึงต้นไม้ในวงศ์ยางนาทั้ง 9 ชนิด จากการเก็บข้อมูลก็พบว่า ต้นไม้ในวงศ์ยางนาหลังจากที่ดอกร่วงไปแล้วครึ่งหนึ่ง หรือช่วงที่เรียกว่า ดอกร่วงพรู เมื่อนับวันไปจะตรงกับช่วงที่ฝนตกพร้อมกับเมล็ดที่แก่และร่วงหล่นพอดี ก็เพื่อให้ต้นยางนาสามารถขยายพันธุ์ได้ เนื่องจากเมล็ดยางนาหากไม่ได้รับน้ำและงอกภายใน 3 วัน เมล็ดก็อาจเสียจนไม่สามารถงอกได้

4 I ยางนา ใช้ก่อสร้างและทำเฟอร์นิเจอร์ได้

ต้นยางนาเป็นไม้ขนาดใหญ่ ไม่ค่อยมีกิ่งก้าน การตัดไม้ยางนาจึงได้เนื้อไม้มาก และเนื้อไม้มีความแข็งปานกลาง มีสีน้ำตาลแดงและหยาบ สามารถเลื่อยไสกบตกแต่งให้เรียบได้ง่าย นิยมนำมาใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น ทำเสาบ้าน ทำไม้ระแนง โครงหลังคา ทำพื้น เพดาน ฝาบ้าน รวมถึงสามารถทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้

5 I ยางนา เป็นหลักค้ำประกันในการกู้ยืมเงินได้

จุดเริ่มต้นมาจากการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่า สู่การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูง เปรียบเสมือนเป็นการออมเงิน โดยมีวิธีการขอหลักประกันไม้ยืนต้นตามนี้

  1. นำข้อมูลมายื่นจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  2. ทาง ธ.ก.ส. จะเป็นผ่ายประเมินราคา

6 I ส่วนต่างๆ ของ ยางนา ใช้ทำตำรายาไทย

ต้นยางนาในตำรายาไทย สามารถนำเปลือกของต้นยางนามาต้ม กินแก้ตับอักเสบ บำรุงร่างกาย ฟอกเลือก บำรังโลหิต แก้ปวดตามข้อ ส่วนน้ำมันยาง มีรสร้อน ช่วยห้ามหนองและสมานแผล ใช้ทาแผลเน่าเปลื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน นอกจากนี้สามารถนำน้ำมันยางนาผสมกับเมล็ดกุยช่าย คั่วให้เกรียม บดให้และเอียด ใช้อุดฟันแก้ฟันผุ รวมถึงใช้จิบเป็นยาขับเสมหะได้ โดยใช้น้ำมันยาง 1 ส่วน ผสมกับ เอทิลแอลกอฮอล์ 2 ส่วน